ประวัติเมืองกาญจนบุรี  

เมืองกาญจนบุรี เป็นเมืองโบราณเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทุกยุคสมัย สามารถแบ่งออกเป็นยุคสมัยตามหลักฐานที่พบ ได้ดังนี้

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

เริ่มตั้งแต่สมัยเริ่มกำเนิดมีมนุษย์ขึ้นในโลก จากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ สิงสาราสัตว์มากมาย เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งอาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบหลักฐานทางด้านโบราณคดีมากมายได้แก่ เครื่อมือหินกะเทาะ เครื่องมือสมัยหินใหม่ เครื่องมือสมัยโลหะ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับ ภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ โลงศพ ฯลฯ ตามถ้ำเพิงผา และตามลำน้ำแควน้อยแควใหญ่ ตลอดไปจนลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
สมัยทวาราวดี

เมื่ออินเดียได้เดินทางเข้ามาค้าขาย และเผยแพร่พุทธศาสนายังแคว้นสุวรรณภูมิ ในราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 16 พบหลักฐานศิลปะอินเดียสมัยคุปตะในสมัยทวาราวดี ตามลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ และแม่กลอง ที่บ้านวังปะโท่ บ้านท่าหวี บ้านวังตะเคียน และพงตึก โบราณวัตถุสถานที่พล เช่น ซากเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป พระพิมพ์ เสมาธรรมจักร ระฆังหิน เครื่องประดับ ภาชนะดินเผา และพบตะเกียงโรมันสำริดที่มีอายุราว พศ.600 นับเป็นโบราณวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดของไทย
สมัยอิทธิพลขอม

จากหลักฐานทางเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรี คือ พงศาวดารเหนือ กล่าวว่า "กาญจนบุรีเป็นเมืองพญากง พระราชทานบิดาของพระยาพาน เป็นเมืองสำคัญของแคว้นอู่ทอง หรือสุวรรณภูมิ มีผู้สันนิษฐานว่าพญากงสร้างขึ้นราว พ.ศ.1350" ต่อมาขอมได้แผ่อิทธิพลนำเอาศาสนาพุทธมหายานเข้ามาประดิษฐานในเมืองกาญจนบุรี ปรากฏหลักฐานคือปราสาทเมืองสิงห์ เมืองครุฑ เมืองกลอนโด จนอำนาจอิทธิพลขอมเสื่อมลงไป
สมัยอยุธยาเป็นราชธานี

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองกาญจนบุรีปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ต้องกลายมาเป็นเมืองหน้าด่าน เพราะตั้งอยู่ติดกับประเทศคู่สงครามคือพม่า กาญจนบุรีจึงเป็นเส้นทางเดินทัพและสมรภูมิ ด้วยเหตุว่ามีช่องทางเดินติดต่อกับพม่า คือ ด่านพระเจดีย์สามองค์ และด่านบ้องตี้ จึงนับว่ามีความสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งในทางยุทธศาสตร์ ยังปรากฏชื่อสถานที่ในพงศาวดารหลายแห่งเช่น ด่านพระเจดีย์สามองค์ สามสบ ท่าดินแดง พุตะไคร้ เมืองด่านต่าง ๆ เมืองกาญจนบุรีตั้งอยู่ในช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่มีลำตะเพินอยู่ทางด้านทิศเหนือ ด้านหลังติดเขาชนไก่ ห่างจากที่ตั้งปัจจุบันไปประมาณ 14 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกกันว่าเมืองกาญจนบุรีเก่ามีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 170x355 เมตร มีป้อมมุมเมืองก่อด้วยดินและหินทับถมกัน ลักษณะของการตั้งเมืองเหมาะแก่ยุทธศาสตร์ในสมัยนั้นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นซอกเขาที่สกัดกั้นพม่าที่ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มุ่งจะไปตีเมืองสุพรรณบุรีและอยุธยาจำเป็นต้องตีเมืองกาญจนบุรีให้ได้เสียก่อน หากหลีกเลี่ยงไปอาจจะถูกกองทัพที่เมืองกาญจนบุรีตีกระหนาบหลัง ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมือง ป้องปราการ พระปรางค์ เจดีย์ และวัดร้างถึง 7 วัดด้วยกัน สมัยอยุธยานี้ไทยต้องทำสงครามกับพม่าถึง 24 ครั้ง กาญจนบุรีเป็นสมรภูมิหลายครั้ง และเป็นทางผ่านไปตีอยุธยาจนต้องเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 และต้องย้ายราชธานีใหม่
สมัยธนบุรีเป็นราชธานี

กรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่จากการกู้เอกราชโดยพระเจ้ากรุงธนบุรี ในสมัยนี้เกิดสงครามกับพม่าถึง 10 ครั้ง กาญจนบุรีเป็นสมรภูมิอีกหลายครั้ง เช่น สงครามที่บางกุ้ง และที่บางแก้ว ซึ่งมีสมรภูมิรบกันที่บริเวณบ้านหนองขาว
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี

เมื่อไทยย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียง 3 ปี ก็เกิดสงครามใหญ่คือ สงคราม 9 ทัพ แต่ไทยสามารถยันกองทัพพม่าแตกพ่ายไปได้ ณ สมรภูมิรบเหนือทุ่งลาดหญ้าในปีต่อมาก็ต้องทำสงครามที่สามสบและท่าดินแดงอีก และไทยตีเมืองทวาย จากนั้นจะเป็นการรบกันเล็กน้อยและมีแต่เพียงข่าวศึก เพราะพม่าต้องไปรบกับอังกฤษในที่สุดก็ตกเป็นเมืองขึ้น และเลิกรบกับไทยตลอดไป ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยุทธศาสตร์การรบเปลี่ยนไป โดยเหตุที่พม่าต้องนำทัพลงมาทางใต้เพื่อเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ จำเป็นต้องมีทัพเรือล่องลงมาจากสังขละบุรี มาตามลำน้ำแควน้อยผ่านอำภอไทรโยคมายังปากแพรก ซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำทั้งสอง ด้วยเหตุนี้หลังจากสิ้นสงคราม 9 ทัพแล้ว จึงได้เลื่อนที่ตั้งฐานทัพจากเมืองกาญจนบุรีที่ลาดหญ้า มาตั้งที่ตำบลปากแพรก ซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำทั้ง 2 สาย กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงอธิบายว่า "ที่จริงภูมิฐานเมืองปากแพรกดีกว่าเขาชนไก่ เพราะตั้งอยู่ในที่รวมของแม่น้ำทั้ง 2 สาย พื้นแผ่นดินที่ตั้งเมืองก็สูงแลเห็นแม่น้ำน้อยได้ไกล ป้อมกลางย่านตั้งอยู่กลางลำน้ำทีเดียว แต่เมืองกาญจนบุรีที่ย้ายมาตั้งใหม่นี้เดิมปักเสาระเนียดแล้วถมดินเป็นเชิงเทินเท่านั้น" ในสมัยรัชกาลที่ 2 กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จออกมาขัดตาทัพ กำแพงเมืองก็คงเป็นระเนียดไม้อยู่ ต่อมาจนถึง พ.ศ.2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้ก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการขึ้นเป็นถาวร ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อติดต่อค้าขายกับเมืองราชบุรี ดังพระราชนิพนธ์เสด็จพระพาสไทรโยค กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "แต่มีเมืองปากแพรกเป็นที่ค้าขาย ด้วยเขาชนไก่เมืองเดิมอยู่เหนือมากมีแก่งถึงสองแก่ง ลูกค้าไปมาลำบาก จึงลงมาตั้งเมืองเสียที่ปากแพรกนี้เป็นทางไปมาแก่เมืองราชบุรีง่าย เมืองที่สร้างขึ้นใหม่ กว้าง 5 เส้น ยาว 18 วา มีป้อม 4 มุมเมือง ป้อมย่านกลางด้านยาวตรงหน้าเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้มีป้อมใหญ่อยู่ตรวเนิน ด้านหลังมีป้อมเล็กตรงกับป้อมใหญ่ 1 ป้อม" การสร้างเมืองกาญจนบุรีใหม่นี้ ดังปรากฏในศิลาจารึกดังนี้ ให้พระยาราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจเป็ฯนพระยาประสิทธิสงครามรามภักดีศรีพิเศษประเทศนิคมภิรมย์ราไชยสวรรค์พระยากาญจนบุรี ครั้งกลับเข้าไปเฝ้าโปรดเกล้าฯว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองอังกฤษ พม่า รามัญ ไปมาให้สร้างเมืองก่อกำแพงขึ้นไว้จะได้เป็ฯชานพระนครเขื่อนเพชรเขื่อนขัณฑ์มั่นคงไว้แห่งหนึ่ง ในปัจจุบันกำแพงถูกทำลายลงโดยธรรมชาติและหน่วยราชการเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เหลือเพียงประตูเมืองและกำแพงเมืองบางส่วน
การปกครองของเมืองกาญจนบุรี

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประกอบด้วยเมืองด่าน 8 เมือง อยู่ในแควน้อย 6 เมือง แควใหญ่ 2 เมือง ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ เพราะได้ตั้งให้พวกมอญอาสา มอญเชลย และกะเหรี่ยง เป็นเจ้าเมืองปกครองกันเอง เพื่อให้มีเกียรติศัพท์ดังออกไปเมืองพม่าว่ามีหัวเมืองแน่นหนาหลายชั้น และมีหน้าที่คอยตระเวณด่านฟังข่าวคราวข้าศึกติดต่อกันโดยตลอด เมื่อสงครามว่างเว้นลงแล้ว เจ้าเมืองกรมการเหล่านี้ก็มีหน้าที่ส่งส่วย ทองคำ ดีบุก และสิ่งอื่นๆ แก่รัฐบาลโดยเหตุที่ในสมัยนั้นมิได้จัดเก็บภาษีอากรจากพวกเหล่านี้แต่อย่างใด เมืองด่าน 7 เมือง(รามัญ 7 เมือง) ประกอบด้วยเมืองในสุ่มแม่น้ำแควน้อย 6 เมือง และแควใหญ่ 1 เมือง คือ

เมืองสิงห์
เมืองลุ่มสุ่ม
เมืองท่าตะกั่ว
เมืองไทรโยค
เมืองท่าขนุน
เมืองทอผาภูมิ
เมืองท่ากระดาน

เมืองต่างๆ เหล่านี้ผู้สำเร็จราชการเมืองยังไม่มีพระนาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาษาสันสกฤตแก่ผู้สำเร็จเมือง ดังนี้

  •  

      เมืองสิงห์ เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ ปัจจุบันเป็นต้นสกุล สิงคิบุรินทร์ ธำรงโชติ
      เมืองลุ่มสุ่ม เป็น พระนินภูมิบดี ปัจจุบันเป็นต้นสุกล นินบดี จ่าเมือง หลวงบรรเทา
      เมืองท่าตะกั่ว เป็นพระชินติฐบดี ปัจจุบันเป็นต้นสกุล ท่าตะกั่ว ชินอักษร ชินหงสา
      เมืองไทรโยค เป็น พระนิโครธาภิโยค ปัจจุบันเป็นต้นสกุล นิโครธา
      เมืองท่าขนุน เป็นพระปนัสติฐบดี ปัจจุบันเป็นต้นสกุล หลักคงคา
      เมืองทองผาภูมิ เป็น พระเสลภูมิบดี เป็นต้นสกุลเสลานนท์ เสลาคุณ
      เมืองท่ากระดาน เป็นพระผลกติฐบดี เป็นต้นสกุล พลบดี ตุลานนท์

ครั้นเมื่อมีการปกครองตามระเบียบสมัยใหม่ ร.ศ.114 เมืองด่านเหล่านี้ถูกยุบลงเป็นหมู่บ้าน ตำบล กิ่งอำเภอ เป็นอำเภอบ้างตามความสำคัญของสถานที่ ดังนี้

  •  

      เมืองทองผาภูมิ (เดิมเรียกว่าท้องผาภูมิ) ยุบลงเป็นหมูาบ้านอยู้ในเขตกิ่งอำเภอสังขละบุรี(ต่อมาเป็นอำเภอสังขละบุรี) ปัจจุบันเป็นอำเภอทองผาภูมิ
      เมืองท่าขนุน(สังขละบุรี) ยุบลงเป็นกิ่งอำเภอสังขละบุรี ขึ้นต่ออำเภอวังกะ ซึ่งตั้งใหม่อยู่ห่างจากท่าขนุนขึ้นไป ตั้งที่ว่าการริมน้ำสามสบ ต่อมาอำเภอวังกะและกิ่งอำเภอสังขละบุรีได้ถูกเปลี่ยนฐานสลับกันหลายครั้ง และต่อมากิ่งอำเภอสังขละบุรีตั้งอยู่ที่ตำบลวังกะ เดิมขึ้นต่ออำเภอทองผาภูมิและเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสังขละบุรี ส่วนกิ่งอำเภอสังขละบุรีเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลท่าขนุน เปลี่ยนเป็นอำเภอทองผาภูมิ ตั้งแต่ พ.ศ.2492 เป็นต้นมา
      เมืองไทรโยค ยุบลงเป็นกิ่งอำเภอวังกะ ใน พ.ศ.2492 ต่อมาได้โอนขึ้นกับอำเภอเมืองกาญจนบุรี ได้ย้ายที่ทำการหลายครั้ง ปัจจุบันนี้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลวังโพธิ์ และได้ยกขึ้นเป็นอำเภอไทรโยค เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2506
      เมืองท่าตะกั่ว ยุบลงเป็นหมู่บ้านอยู่ในตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค
      เมืองลุ่มสุ่ม ยุบลงเป็นหมู่บ้านในตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค
      เมืองสิงห์ ยุบลงเป็นหมู่บ้านอยู่ในตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค

ตามลำน้ำแควใหญ่ มีเมือง 2 เมือง คือ

  •  

      เมืองท่ากระดาน ยุบลงเป็นหมู่บ้านอยู่ในกิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์(ปัจจุบันเป็นอำเภอศรีสวัสดิ์)
      เมืองศรีสวัสดิ์ (ด่านแม่แฉลบ) ยุบลงเป็นกิ่งอำเภอไทรโยค (ปัจจุบันเป็นอำเภอศรีสวัสดิ์)

      อำเภอเมือง ตั้งที่ทำการอยู่ตำบลปากแพรก ในกำแพงเมืองเก่า ประกอบด้วย
      กิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์
      กิ่งอำเภอไทรโยค
      กิ่งอำเภอบ่อพลอย
      ปัจจุบันทั้ง 3 กิ่งอำเภอได้ยกฐานะเป็นอำเภอ
      อำเภอท่าม่วง ตั้งที่ว่าการที่ตำบลท่าม่วง เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลวังขนาย ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองเรียกว่า อำเภอวังขนาย ครั้น พ.ศ. 2489 จึงย้ายมาสร้างใหม่ที่ตำบลท่าม่วงจนถึงปัจจุบัน
      อำเภอพนมทวน ตั้งที่ว่าการตำบลพนมทวน ก่อนเรียกว่าอำเภอบ้านทวน และก่อน ร.ศ. 120(พ.ศ.2445)เรียกว่าอำเภอเหนือ
      อำเภอท่ามะกา ตั้งที่ว่าอยู่ที่ตำบลท่ามะกา ก่อนเรียกตำบลพระแท่นอยู่ในเขตตำบลพงตึก ขึ้นกับจังหวัดราชบุรี และได้โอนมาสังกัดจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ.2480
      อำเภอทองผาภูมิ ตั้งที่ว่าอยู่ที่ตำบลท่าขนุน มีกิ่งอำเภอสังขละบุรีอยู่ในสังกัด

  • ในปี พ.ศ.2467 จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วยอำเภอและกิ่งอำเภอ ดังนี้

    สภาพพื้นที่และเขตติดต่อ

    เขตการปกครองและประชากร
    แบ่งเขตการปกครองออกเป็น
    - 13 อำเภอ 95 ตำบล 915 หมู่บ้าน
    - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มี องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 26 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 95 แห่ง

    แผนที่จังหวัดกาญจนบุรี


    จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทยห่างจากกรุงเทพมหานคร 129 กิโลเมตร มีพื้นที่ 12 ล้านไร่ หรือ 19,483 ตารางกิโลเมตร มีชายแดนติดต่อกับสหภาพพม่าระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่
    ทิศเหนือ จด จังหวัดตากและจังหวัดอุทัยธานี
    ทิศใต้ จด จังหวัดราชบุรี
    ทิศตะวันออก จด จังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม
    ทิศตะวันตก จด สหภาพพม่า

 
(Root) 20081218-929-65687.jpg

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...